วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551

พยัญชนะไทยใช้แทนคำ ณ ธ บ

พยัญชนะไทยนั้น นอกจากจะใช้เป็นพยัญชนะต้น ตัวสะกด และตัวควบกล้ำแล้ว
พยัญชนะไทยบางตัวยังใช้แทนคำได้อีกด้วยค่ะ ได้แก่ ณ ธ บ
ณ เณร เป็นพยัญชนะตัวที่ 19 จัดเป็นอักษรต่ำใช้เป็นพยัญชนะต้นและตัวสะกด
ณ เณร ที่ใช้เป็นพยัญชนะต้น ได้แก่ คำว่า เณร ณรงค์ ณ เณร ที่ใช้เป็นตัวสะกดในมาตราแม่กน
ในคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต ได้แก่ คำว่า คุณ บัณฑิต
ณ เณร เมื่อนำมาใช้แทนคำออกเสียงว่า นะ ทำหน้าที่เป็นคำบุพบท แปลว่า ใน , ที่
เป็นคำบ่งเวลาหรือสถานที่ ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ
ณ ที่ใช้บอกสถานที่ เช่น

􀀩 รายการ “ภาษาไทยใช้ให้ถูก” ออกอากาศ ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
􀀩 มีเด็ก ๆ จำนวนมากเข้ามาออกกำลังกาย ณ สวนรุกขมัย ณ ที่ใช้บอกเวลา เช่น
􀀩 การแสดงชุดแรกจะเริ่มขึ้น ณ บัดนี้
􀀩 ณ โอกาสนี้ขอเชิญท่าน ผอ.มอบของที่ระลึกแด่ท่านวิทยากร
􀀩 ณ วันนี้ราคาน้ำมันก็ยังไม่หยุดนิ่ง

ณ อาจใช้ในความหมายว่า แห่ง เมื่อใช้นำหน้านามสกุลของผู้ที่สืบเชื้อสายมาจาก
ราชสกุล ใช้เฉพาะผู้ที่มิได้เป็นเจ้า เช่น ณ อยุธยา , ณ ระนอง , ณ นคร ฯลฯ
การใช้คำว่า “ณ อยุธยา” ใช้สำหรับราชสกุลจักรีวงศ์ ซึ่งใช้ชื่อสกุลต่าง ๆ กันแต่ละสาย
เช่น อิศรางกูร ณ อยุธยา , นพวงศ์ ณ อยุธยา , ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ฯลฯ ถ้าผู้ใช้มีฐานันดรศักด์ิ
เป็น ม.จ. , ม.ร.ว. , ม.ล. นำหน้าแล้ว ไม่ต้องเติม “ณ อยุธยา” แต่ถ้ามิได้มีฐานันดรศักด์ิใช้ นาย
หรือ นางสาวนำหน้าชื่อ บุตรหรือธิดาของ ม.ล. และผู้ที่เป็นหม่อม (หมายถึง ภรรยาที่เป็นสามัญคน
ของเชื้อพระวงศ์ทุกระดับต้องใช้ “ณ อยุธยา” ตาม พ.ร.บ. ขนานนามสกุลของรัชกาลที่ 6 ซึ่งเดิม
พระองค์ให้ใช้ว่า “ณ กรุงเทพฯ” ต่อมาให้เปลี่ยนเป็น ณ อยุธยา เช่น หม่อมศรีรัศม์ิ มหิดล
ณ อยุธยาคำว่า ณ (นะ) ไม่ใช่คำย่อนะคะ เวลาเขียนจึงไม่ต้องใส่จุด . ข้างหลัง แต่เพื่อให้เห็น
เด่นชัดว่า ณ เป็นคำคำหนึ่ง เวลาเขียนให้เว้นวรรคข้างหน้าและข้างหลัง 1 ช่วงตัวอักษร
พยัญชนะไทยตัวที่สามารถแทนคำได้อีกตัวหนึ่งคือ ธ ธง เป็นพยัญชนะตัวที่ 24
จัดเป็นพวกอักษรต่ำ ใช้เป็นพยัญชนะต้นและตัวสะกด ธ ธง ที่ใช้เป็นพยัญชนะต้น ได้แก่ คำว่า
ธง ธรรมจักร ธุรการ ธูป เธอ เป็นต้น ธ ธง ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กดในคำที่มาจากภาษาบาลี
และสันสกฤต ได้แก่ คำว่า สุเมธ (นักปราชญ์) มคธ (ชื่อแคว้นในอินเดียครั้งพุทธกาล)
ธ ธง เมื่อนำมาใช้แทนคำ ออกเสียงว่า ทะ ทำหน้าที่เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ 3 หมายถึง
ท่าน , เธอ มักใช้ในคำประพันธ์ หรือใช้เป็นถ้อยคำที่แสดงความเคารพ ยกย่อง สรรเสริญ คุณงาม-
ความดีของบุคคลที่กล่าวถึง
เมื่อวันครูที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้จัดรายการพิเศษเกี่ยวกับเรื่องของครู โดยนำ
เสนอพระอัจฉริยภาพในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็นทูล-
กระหม่อมอาจารย์ของ นนร. รายการพิเศษวันนั้นใช้ชื่อว่า “ธ คือ ‘ครู’ ผู้ห่วงใย กลางใจเหล่า
นนร.” ท่านผู้ฟังคงจะเห็นแล้วนะคะว่า คำว่า ธ (ทะ) หมายถึง พระองค์ เป็นสรรพนามบุรุษที่ 3
ใช้แทน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นั่นเองค่ะ
ท่านผู้ฟังคะ นอกจากเราจะพบเห็นคำว่า ธ ในคำประพันธ์ทั่ว ๆ ไปแล้ว เมื่อไม่กี่ปี
มานี้ เราจะได้ยินคำนี้ในบทเพลง “ภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา” ซึ่งเป็นเพลงเทิดพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา
6 รอบ เมื่อปีพุทธศักราช 2542
คำว่า ธ นี้ปรากฏอยู่ในเนื้อร้อง เพลง “ภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา” 3 ตอนด้วยกัน
ดังนี้

􀀩 เกือบศตวรรษ ธ นำไทยทั้งชาติพ้นภัย
􀀩 ธ เป็นพลังแผ่นดิน สมานพลังชีวินของชนชาวไทย
􀀩 เทิดไท้นบน้อมเทิดทูน ธ เหนือเกล้า

ในที่นี้คำว่า ธ เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ 3 หมายถึง พระองค์ ใช้แทนคำว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
บ ใบไม้ เป็นพยัญชนะไทยอีกตัวหนึ่งที่ใช้แทนคำได้ บ ใบไม้ เป็นพยัญชนะตัวที่ 26
จัดเป็นพวกอักษรกลาง ใช้เป็นพยัญชนะต้นและตัวสะกด บ ใบไม้ ที่ใช้เป็นพยัญชนะต้น ได้แก่
คำว่า บันได บัวบก บุกเบิก บทบาท บูดเบี้ยว โบยบิน เบิกบาน เป็นต้น บ ใบไม้
ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กบ ได้แก่ ระบบ บอบบาง กรอบแกรบ ลึกลับ พรึ่บพรั่บ เป็นต้น
บ ใบไม้ เมื่อนำมาใช้แทนคำ ออกเสียงว่า บอ ทำหน้าที่เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง ไม่
เป็นคำแสดงความปฏิเสธ มักใช้ในหนังสือเก่า คำประพันธ์ หรือใช้ในภาษาท้องถิ่น
คำว่า บ ที่ใช้ในคำประพันธ์นั้น ท่านผู้ฟังบางท่านที่เคยสวดมนต์หรือสวดบทนมัสการ
พระพุทธคุณ พระสังฆคุณ และบทนมัสการอาจาริยคุณ ซึ่งเป็นบทกวีของพระยาศรีสุนทรโวหาร
(น้อย อาจารยกูร) ปราชญ์คนสำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงจะคุ้นเคย
กับคำว่า บ เป็นอย่างดีนะคะ บทนมัสการทั้ง 2 บท แต่งด้วยอินทรวิเชียรฉันท์ มีคำว่า บ อยู่
หลายแห่ง

ตัวอย่าง
บทมนัสการพระพุทธคุณ
องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน
ตัดมูลเกลศมาร บมิหม่นมิหมองมัว
บทนมัสการพระสังฆคุณ
เหินห่างทางข้าศึกปอง บมิลำพอง
ด้วยกายและวาจาใจ
บทนมัสการอาจาริยคุณ
ยังบทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอัตถ์ให้ชัดเจน

คำว่า บ (บอ) ที่ปรากฏในบทประพันธ์ดังกล่าวทำหน้าที่เป็นคำวิเศษณ์ แสดงความ
ปฏิเสธ หมายถึง ไม่ นอกจากนี้เรายังพบว่า บ ใช้แทนคำว่า ไม่ ในภาษาถิ่นเหนือและถิ่นอีสาน
เช่น ถ้าเราถามคนเหนือหรือคนอีสานว่า กินข้าวหรือยัง ถ้ายังไม่กินเขาก็จะตอบว่า บ (บอ)
บางท้องถิ่นอาจออกเสียงเป็น บ่อ ก็มีค่ะ